วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

ไมยราบ แก้เบาหวาน

ไมยราบ แก้เบาหวาน

ไมยราบ เป็นไม้สมุนไพรชนิดหนึ่งที่นำไปเข้ากับต้นครอบจักรวาล แล้วใช้เป็นยาแก้เบาหวานได้ โดยเอาต้นไมยราบ ทั้งต้นรวมรากแบบสดกับต้นครอบจักรวาลสดเช่นเดียวกัน จำนวนเท่ากัน หั่นเป็นชิ้นตากแห้งนำไปคั่วไฟอ่อน ๆ จนเหลือ ชงกับน้ำร้อนดื่มทุกวัน ช่วยลดน้ำตาลในเลือดหรือเบาหวานได้ สามารถดื่มได้เรื่อย ๆ ไม่มีอันตรายอะไร


ไมยราบ หรือ SENSITIVE PLANT-MIMOSA PUDICA LINN. อยู่ในวงศ์ FABACAEA เป็นไม้ล้มลุกทอดเลื้อย ใบไวต่อการสัมผัส ดอกสีชมพู พบขึ้นทั่วไปตามห่ารกร้างว่างเปล่า มีสรรพคุณทางยาคือ ทั้งต้น ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ แก้กษัย (อาการป่วยเกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง และปวดเมื่อย) โดยต้มน้ำดื่ม ราก แก้บิด ขับปัสสาวะ ทั้งต้นผสมรากสะเดาดินและไมยราบเครือ (อีกชนิดหนึ่งคล้ายคลึงกันมาก) ทั้งต้นต้มน้ำดื่มขับปัสสาวะ สารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ สามารถลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง สารบริสุทธิ์สกัดจากต้นไมยราบ ทำเป็นโทนเนอร์ เช็ดหน้าหลังอาบน้ำ ฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสิวได้ และยังช่วยทำให้ใบหน้าสะอาดด้วย



ครอบจักรวาล หรือ XANTONNEA PARVIFLIA CRAIB อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร พบขึ้นตามป่าทั่วไป ดอกเป็นสีขาวแกมเหลือง มีสรรพคุณทางยาคือ เปลือกต้นหรือเปลือกรากขูดเป็นฝอย ๆ ผสมเกลือกป่นอมรักษาอาการฟันผุดีมาก ซึ่งทั้งต้นไมยราบและต้นครอบจักรวาล นิยมปลูกเฉพาะตามสวนสมุนไพรเท่านั้น ใครต้องการต้นไปปลูกต้องเสาะหากันเอง หรือลองติดต่อคุณพร้อมพันธุ์ บริเวณโครงการ 21 ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ – พฤหัสบดี จัดหาให้อาจจะมี ราคาสอบถามกันเอง





ความรู้เรื่องเบาหวาน


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เบาหวาน เป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน โรคนี้มีความรุนแรงสืบเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้



ปี 2550 พบผู้ป่วยเบาหวานแล้วถึง 246 ล้านคน โดยผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย


ชนิดและสาเหตุ


เบาหวาน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่


-โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายหยุดการสร้างอินซูลิน ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดระยะยาว


-โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักตัวมาก การขาดการออกกำลังกาย และวัยที่เพิ่มขึ้น เซลล์ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังคงมีการสร้างอินซูลิน แต่ทำงานไม่เป็นปกติเนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินค่อยๆถูกทำลายไป บางคนเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนโดยไม่รู้ตัว และต้องการยาในการรับประทาน และบางรายต้องใช้อินซูลินชนิดฉีด เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือด



อาการ
ถ้าหากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์


-ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น


-ปัสสาวะกลางคืนบ่อยขึ้น (ระหว่างช่วงเวลาที่เข้านอนแล้วจนถึงเวลาตื่นนอน)


-หิวน้ำบ่อยและดื่มน้ำในปริมาณที่มาก ๆ


-เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง



-น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะถ้าหากน้ำหนักเคยมากมาก่อน


-ติดเชื้อบ่อยกว่าปกติ เช่น ติดเชื้อทางผิวหนังและกระเพาะอาหาร


-สายตาพร่ามองเห็นไม่ชัดเจน


-เป็นแผลหายช้า



โดย เบาหวานชนิดที่ 2 อาจจะมีอาการเหล่านี้บางอย่าง หรืออาจไม่มีอาการเหล่านี้เลย
อาการแทรกซ้อน

-ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา (Diabetic retinopathy)

เกิดจากการที่น้ำตาลเข้าไปใน endothelium ของ หลอดเลือดเล็กๆ ในลูกตา ทำให้หลอดเลือดเหล่านี้มีการสร้างไกลโคโปรตีนซึ่งจะถูกขนย้ายออกมาเป็น Basement membrane มากขึ้น ทำให้ Basement membrane หนา แต่เปราะ หลอดเลือดเหล่านี้จะฉีกขาดได้ง่าย เลือดและสารบางอย่างที่อยู่ในเลือดจะรั่วออกมา และมีส่วนทำให้ Macula บวม ซึ่งจะทำให้เกิด Blurred vision หลอดเลือดที่ฉีกขาดจะสร้างแขนงของหลอดเลือดใหม่ออกมามากมายจนบดบังแสงที่มาตกกระทบยัง Retina ทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยแย่ลง

-ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy)
พยาธิสภาพของหลอดเลือดเล็กๆ ที่ Glomeruli จะทำให้ Nephron ยอมให้ albumin รั่วออกไปกับ filtrate ได้ Proximal tubule จึงต้องรับภาระในการดูดกลับสารมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นนานๆ ก็จะทำให้เกิด Renal failure ได้ ซึ่งผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 2- 3 ปี นับเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

-ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy)

หากหลอดเลือดเล็กๆ ที่มาเลี้ยงเส้นประสาทบริเวณปลายมือปลายเท้าเกิดพยาธิสภาพ ก็จะทำให้เส้นประสาทนั้นไม่สามารถนำความรู้สึกต่อไปได้ เมื่อผู้ป่วยมีแผล ผู้ป่วยก็จะไม่รู้ตัว และไม่ดูแลแผลดังกล่าว ประกอบกับเลือดผู้ป่วยมีน้ำตาลสูง จึงเป็นอาหารอย่างดีให้กับเหล่าเชื้อโรค และแล้วแผลก็จะเน่า และนำไปสู่ Amputation ในที่สุด

-โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary vascular disease)

-โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease)


-โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vascular disease)



-แผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic ulcer)


การดูแลป้องกันโรคเบาหวาน
-ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ การรักษาจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันระหว่างผู้ป่วย แพทย์ ผู้ให้คำแนะนำเรื่องโรคเบาหวาน โภชนาการและยา การรักษานี้จะช่วยให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยารักษา

-ควรเจาะระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ ให้ปรึกษาแพทย์ว่าควรเจาะช่วงใด และบ่อยแค่ไหนถึงจะดีที่สุด


-ยาบางชนิดหรือยาสมุนไพรอาจมีผลต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือด จะต้องตรวจสอบกับแพทย์และเภสัชกรก่อนเลือกผลิตภัณฑ์ยาเหล่านี้



การรักษา
การรักษาโรคเบาหวานในผู้สูงอายุมีเป้าหมาย คือ

1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตลอดชีวิต คือประมาณ 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด แต่อย่างไรก้ตามปัจจุบันเราได้ใช้ค่าน้ำตาลแบบฮีโมโกลบินเอวันซีในการประเมินผู้ป่วยเบาหวาน ค่าฮีโมโกลบินเอวันซี ที่เหมาะสมคือต่ำกว่าร้อยละ 7


2. ป้องกันหรือชะลอโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น (สมอง ใจ ไต ตา ชา แผล)


3. เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย คือให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขและมีคุณภาพ


4.นอกจากนี้เรายังจำเป็นต้องควบคุมระดับความดันโลหิต โดยระดับความดันโลหิจที่เหมาะสม คือ น้อยกว่า 130/90 มิลลิเมตร ปรอท และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติอีกด้วย โดยดูจากระดับไขมันความหนาแน่นต่ำ ต้องน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
ดังนั้นการรักษาโรคเบาหวานจะต้องอาศัยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยา ซึ่งทั้งนี้ต้องการกำลังใจของผู้สูงอายุและความร่วมมือจากญาติพี่น้องหรือผู้ดูแล การใช้ยารักษาจะเริ่มเมื่อผู้ป่วยสูงอายุไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้บรรลุเป้าหมายด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย การใช้ยาจึงมีความสำคัญมากต่อชีวิตผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบันซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากในอดีต โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาที่เหมาะสมคือออกฤทธิ์ไม่แรงและหมดฤทธิ์เร็ว เริ่มจากขนาดยาต่ำ ๆ ก่อน มีวิธีการใช้ยาที่ง่ายและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ใช้ยาจะต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วยเสมอ ผู้จะต้องใช้ยาตลอดชีวิตเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและอาการของโรคเบาหวานตามเป้าหมายที่กำหนด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรผู้ป่วยสูงอายุจึงจะอยู่กับโรคเบาหวานและการใช้ยาอย่างมีความสุข